10 ข้อสังเกตอาการคนท้อง อาการท้องระยะ 1-2 สัปดาห์ ที่คุณแม่ควรทราบ

10 ข้อสังเกตอาการคนท้อง อาการท้องระยะ 1-2 สัปดาห์ ที่คุณแม่ควรทราบ

อาการคนท้องช่วงแรก ๆ นั้น มักจะใกล้เคียงกับอาการก่อนประจำเดือนมา ไม่ว่าจะเป็น เต้านมขยาย ตึงคัดเต้านม หรือรู้สึกเบื่ออาหาร บางคนอาจจะมีอาการประจำเดือนขาด ซึ่งเกิดได้จากความเครียด ความเหนื่อยล้า การออกกำลังกายหนักเกินไป หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเราท้อง? ประจำเดือนขาดกี่วันถึงจะตรวจตั้งครรภ์ได้? อาการแพ้ท้องเป็นอย่างไร? 

เรารวม 10 ข้อสังเกตอาการคนท้องระยะ 1-2 สัปดาห์แรก ที่คุณแม่ควรทราบ จะได้ดูแลลูกน้อยในครรภ์ตั้งแต่เริ่มต้นอย่างดีที่สุด

10 ข้อสังเกตอาการคนท้องระยะ 1-2 สัปดาห์แรก

ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจจะมีอาการผิดปกติต่าง ๆ เกิดขึ้นกับร่างกายได้ ขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกายของแต่ละคนด้วยเช่นกัน บางคนอาจจะมีอาการแพ้ท้อง ขณะที่คุณแม่บางคนอาจจะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากจะมีอาการขาดประจำเดือน หรือประจำเดือนไม่มาตามปกติ มาสังเกต 10 อาการคนท้องระยะแรกกันดีกว่า  

  • ประจำเดือนขาดเกิด

โดยปกติแล้วรอบเดือนจะเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ในทุก 28-29 วัน ขณะที่บางคนอาจจะเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ในทุก 35-40 วัน แต่หากคุณแม่เป็นคนที่ประจำเดือนมาตรง หรือช้ากว่าปกติไม่เกิน 2-3 วัน และมีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ สามารถตรวจตั้งครรภ์ได้ตั้งแต่ 1 สัปดาห์แรกของการขาดประจำเดือน 

Tips: คุณแม่สามารถใช้ที่ตรวจครรภ์ได้ทุกช่วงเวลา แต่ถ้าอยากได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำแนะนำให้ตรวจในตอนเช้าหลังตื่นนอน เพราะเป็นช่วงเวลาที่ฮอร์โมนตั้งครรภ์อยู่ในระดับสูงนั่นเอง

  • ตึงคัดเต้านม เต้านมขยาย เต้านมมีสีคล้ำขึ้น

คุณอาจจะรู้สึกคัดตึงเต้านม เจ็บเต้านม คันบริเวณเต้านม เต้านมขยาย และมีสีคล้ำขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนของร่างกาย ขณะที่ร่างกายเตรียมพร้อมสำหรับการให้นมบุตร หน้าอกจะขยายใหญ่ขึ้น ฐานหัวนมอาจมีสีเข้มขึ้น หรือรู้สึกปวดตึงบริเวณเต้านม แนะนำให้สวมเสื้อชั้นในที่ช่วยเพิ่มความรู้สึกสบาย และควรใช้ครีมบำรุงผิว หรือโลชั่นทาบริเวณเต้านม เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นและลดอาการคันจากผิวแห้งตึง

  • เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย

อาการง่วงนอน เหนื่อยง่าย และอ่อนเพลีย ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ เนื่องจากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่สูงขึ้น เพื่อปกป้องตัวอ่อนในครรภ์ให้แข็งแรงและสมบูรณ์ ส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายทำงานหนักมากขึ้น เช่น หัวใจ ปอด ไต เป็นต้น คุณแม่จึงรู้สึกเหนื่อยง่ายและอ่อนเพลีย คุณหมอแนะนำให้พักผ่อนให้เพียงพอ ปรับอุณหภูมิห้องให้เย็นสบาย และควรสูดหายใจเข้าออกให้เต็มปอด บางคนอาจจะหายใจถี่ ๆ เพราะร่างกายต้องการออกซิเจนเพื่อไปเลี้ยงตัวอ่อนให้สมบูรณ์ 

  • คลื่นไส้ อาเจียน ไวต่อกลิ่น

ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจจะรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน และจมูกไวต่อกลิ่นต่าง ๆ ทั้งกลิ่นอาหาร กลิ่นกาย กลิ่นน้ำหอม กลิ่นสัตว์เลี้ยง ฯลฯ ที่ทำให้รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ซึ่งเป็นสัญญาณของ “อาการแพ้ท้อง” ส่วนใหญ่มักจะมีอาการในตอนเช้า ตอนท้องว่าง หรือเป็นได้ทุกช่วงเวลาของวัน บางคนอาจมีอาการแพ้ท้องนานถึง 15 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ โดยอาการแพ้ท้องของคุณแม่แต่ละท่านจะแตกต่างกันไป บางคนอาการแพ้ท้องจะค่อย ๆ ดีขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ได้ 10 สัปดาห์ หรือบางคนอาจจะไม่มีอาการแพ้ท้องเลยก็ได้เช่นกัน

แม้อาการคลื่นไส้อาเจียนในระหว่างตั้งครรภ์ อาจจะไม่ใช่เรื่องน่าวิตกกังวล แต่หากคุณแม่มีอาการแพ้ท้องรุนแรงผิดปกติ ทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำและภาวะทุพโภชนาการ (ขาดสารอาหาร) แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อบรรเทาอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างตั้งครรภ์ 

  • มีตกขาวมากขึ้นกว่าปกติ

ผู้หญิงทุกคนสามารถมี “ตกขาว” ได้ตามปกติ แต่สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ในระยะแรก ๆ จะมีตกขาวมากกว่าปกติ เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้ช่องคลอดหลั่งสารคัดหลั่งออกมามากขึ้น โดยตกขาวจะมีลักษณะเป็นมูกขาวคล้ายแป้งเปียก ไม่มีกลิ่น หรืออาการคัน หากมีอาการดังกล่าวร่วมด้วย แนะนำให้พบสูตินารีแพทย์เพื่อทำการตรวจหาความผิดปกติของร่างกาย 

  • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล

อย่าแปลกใจหากอยู่ ๆ คุณจะมีอาการหงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน และรู้สึกไม่สบายตัว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ทำให้ระยะแรกของการตั้งครรภ์คุณแม่จะหงุดหงิดง่ายขึ้น แต่หากคุณแม่มีอารมณ์แปรปรวนรุนแรงและรู้สึกวิตกกังวล สามารถเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ได้เช่นกัน

  • ปัสสาวะบ่อยขึ้น

หากคุณสังเกตว่าตัวเองปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ ทั้งที่ไม่ได้ดื่มน้ำมากขึ้นและมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยก็อาจจะเป็นไปได้ว่า คุณมีอาการตั้งครรภ์หรือตั้งท้องระยะแรก ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนทำให้ระบบไหลเวียนของเลือดไปยังไตและมดลูกทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น โดยเฉพาะเวลากลางคืน นอกจากนี้ อาการปวดปัสสาวะบ่อย ๆ ยังเกิดจากมดลูกขยายตัวขึ้นจะกดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้คุณแม่ปวดปัสสาวะบ่อย อาการปวดปัสสาวะบ่อยจะค่อย ๆ ดีขึ้น

  • เลือดออกกระปริบกระปรอย

อาการเลือดออกกระปริบกระปรอยจากช่องคลอด เกิดได้จากภาวะก่อนมีประจำเดือน หรือการตั้งครรภ์ในระยะแรก โดยคนสมัยโบราณจะเรียกว่า “เลือดล้างหน้าเด็ก” ซึ่งเกิดจากการที่ไข่ฝังตัวในมดลูกหลังจากได้รับการปฏิสนธิแล้ว กระบวนการฝังตัวในโพรงมดลูกทำให้มีเลือดออกกระปริบกระปรอย หรือมีเลือดสีแดงจาง ๆ เพียงเล็กน้อย แต่หากมีเลือดออกมากผิดปกติในระหว่างการตั้งครรภ์ 1-2 สัปดาห์แรก แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับคำปรึกษาจะดีกว่า

  • อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น

ช่วงแรก ๆ ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ร่างกายจะมอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติเล็กน้อย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระบบต่าง ๆ และร่างกายผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ และลำเลียงอาหารจากคุณแม่ไปสู่ลูกน้อย คุณแม่อาจจะรู้สึกตัวรุม ๆ เหมือนมีไข้ต่ำ ๆ ในตอนเย็น แนะนำให้ดื่มน้ำสะอาด ปรับอุณหภูมิให้รู้สึกเย็นสบาย และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อช่วยปรับสมดุลให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ และเพื่อดูแลลูกน้อยในครรภ์ให้สมบูรณ์แข็งแรงด้วยเช่นกัน

  • ท้องผูก ปวดหลัง ปวดศีรษะ

อาการปวดท้องน้อยหน่วง ๆ ปวดหลัง และท้องผูก เป็นอาการที่พบบ่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์ หลายคนอาจจะมีอาการปวดหลังได้ตั้งแต่เดือนแรก ๆ ของการตั้งครรภ์ รวมถึงอาการวิงเวียนศรษะ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย รวมถึงการไหลเวียนของเลือดทำให้เกิดอาการปวดหัวและปวดหลังได้ง่าย นอกจากนี้ ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงยังส่งผลต่อระบบย่อยอาหารที่เปลี่ยนไป ทำให้คุณแม่มีอาการท้องผูกร่วมด้วย แนะนำให้ดื่มน้ำเปล่ามากขึ้นเพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย และช่วยบรรเทาอาการท้องผูกให้ดีขึ้น

ฝากครรภ์ต้องทำอย่างไร และเมื่อไหร่ควรฝากครรภ์?

หลังจากที่คุณแม่ตรวจเช็กจนแน่ใจแล้วว่าเข้าสู่อาการตั้งครรภ์ระยะแรก แนะนำให้ฝากครรภ์กับสูตินารีแพทย์ที่คุณแม่วางใจได้เลย หรือควรฝากครรภ์ไม่เกินอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ (นับจากวันแรกของการขาดประจำเดือนรอบสุดท้าย) เพื่อเข้ารับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ 

โดยปกติคุณหมอจะสอบถามอาการของคุณแม่ และอาการผิดปกติต่าง ๆ รวมถึงให้คำแนะนำในการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อน การตรวจเลือดเพื่อประเมินสุขภาพของคุณแม่และลูกในครรภ์ ภาวะเบาหวาน ดาวน์ซินโดรม ตรวจอัลตร้าซาวด์ลูกน้อยในครรภ์ ให้วัคซีนที่จำเป็นในระหว่างการตั้งครรภ์ และวิตามินบำรุงครรภ์ นอกจากนี้ คุณหมออาจให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ครีมบำรุงผิวที่คุณแม่ท้องควรหลีกเลี่ยง รวมไปถึง อาการเตือนก่อนคลอด ให้คำแนะนำเกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีคลอดบุตรที่เหมาะสมกับคุณ

คำถามที่พบบ่อย

อาการตั้งครรภ์ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก มีอะไรบ้าง? 

ช่วง 1-2 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจจะมีอาการเลือดออกกระปริบกระปรอยทางช่องคลอด รู้สึก เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ง่วงนอน เบื่ออาหาร ท้องผูก คลื่นไส้อาเจียน รู้สึกไวต่อกลิ่น และมีอาการแพ้ท้อง

การเปลี่ยนแปลงของร่างกายในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ สังเกตได้อย่างไรบ้าง? 

การเปลี่ยนแปลงของร่างกายในระหว่างตั้งครรภ์ระยะแรก จะมีอาการตึงคัดเต้านม เต้านมขยาย หัวนมจะมีสีคล้ำขึ้น ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ปวดศีรษะ อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น หรือรู้สึกตัวรุม ๆ เหมือนมีไข้ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย

เมื่อไหร่ควรฝากครรภ์? 

หลังจากตรวจพบว่าตั้งครรภ์ คุณแม่สามารถฝากครรภ์ได้ทันทีและไม่ควรเกิน 12 สัปดาห์ของอายุครรภ์ 

เราจะแยกแยะระหว่างอาการตั้งครรภ์ทั่วไป และสัญญาณผิดปกติในช่วง 1-2 สัปดาห์ได้อย่างไร? 

หากคุณแม่มีอาการแพ้ท้องผิดปกติ อาเจียนรุนแรง มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ที่ไม่ใช่เลือดออกกระปริบกระปรอยแบบเลือดล้างหน้าเด็ก หรือมีอาการปวดท้องรุนแรง อาจเป็นสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนต้องรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็วที่สุด

รับมือกับอาการแพ้ท้องในช่วง 1-2 สัปดาห์ได้อย่างไร? 

คุณแม่สามารถบรรเทาอาการแพ้ท้อง หรืออาการคนท้องในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกได้ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำบ่อย ๆ ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย รับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ บ่อย ๆ และควรอยู่ในสถานที่ที่อากาศเย็นสบาย เพื่อช่วยให้คุณแม่รู้สึกสบายตัวมากขึ้น 

เช็กลิสต์อาการคนท้องระยะ 1-2 สัปดาห์แรกให้ครบทั้ง 10 ข้อกันแล้ว หากเข้าข่ายคุณแม่กำลังตั้งท้องหรือต้องการตรวจเช็กให้แน่ใจอีกครั้ง แนะนำให้ไปตรวจตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลและเข้ารับคำแนะนำดี ๆ ในการดูแลสุขภาพตัวเองและลูกในครรภ์จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้คุณแม่ดูแลตัวเองอย่างดีที่สุดและลูกน้อยในครรภ์เจริญเติบโตได้อย่างแข็งแรงนั่นเอง

 

 

บทความที่น่าสนใจ เพื่อการดูแลผิวลูกน้อย