วิธีดูแลผดผื่นลูก..ที่ปลอดภัย โดยกุมารแพทย์

วิธีดูแลผดผื่นลูก..ที่ปลอดภัย โดยกุมารแพทย์

ผิวลูกวัยทารก เป็นผิวที่บอบบาง แพ้ง่าย เกิดผดผื่นได้ง่าย และปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนเจอคือ ปัญหาผื่นผ้าอ้อม รวมถึงผดผื่นจากความอับชื้น จากอากาศบ้านเราที่ออกร้อนชื้น ทำให้ลูกมีเหงื่อ และอับชื้นได้โดยเฉพาะบริเวณซอกพับ และในบริเวณผ้าอ้อม

สาเหตุการเกิดผื่น

  1. ผิวทารก มีชั้นผิวที่บางกว่าชั้นผิวของผู้ใหญ่ ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำหรือความชุ่มชื่นออกจากผิวได้ง่ายกว่า ทำให้ผิวเกิดการแห้ง แพ้ และระคายเคืองได้ง่าย

  2. ต่อมเหงื่อของทารกยังเจริญไม่เต็มที่ จึงเกิดการอุดตันของต่อมเหงื่อได้ง่าย เกิดเป็นผดเหงื่อ หรือผดร้อน (Prickly Heat Rash , Miliaria)

  3. บริเวณผ้าอ้อม เป็นบริเวณที่เกิดผื่นได้ง่าย สาเหตุจาก

  • เกิดความอับชื้นจากการใส่ผ้าอ้อม ทำให้ผิวบริเวณนั้นไม่มีการถ่ายเทอากาศ

  • ความชื้นจากปัสสาวะและอุจจาระ ทำให้ผิวชั้นนอกเปื่อย ส่งผลให้โครงสร้างผิวอ่อนแอ

  • อุณหภูมิที่สูงขึ้นจากปัสสาวะ ทำให้เกิดความร้อน อับชื้น และมีเหงื่อมากในบริเวณนั้น

  • ความเป็นด่างของปัสสาวะ ทำให้สมดุลกรดด่างบริเวณผิวเสียไป กระตุ้นให้เกิดการระคายเคือง

  • เชื้อแบคทีเรียจากอุจจาระ กระตุ้นให้เกิดการระคายเคือง และติดเชื้อได้ง่าย

  • การเสียดสีบริเวณผ้าอ้อมกับผิวในช่วงที่เคลื่อนไหว ทำให้ผิวระคายเคืองมากขึ้น

เด็กอารมณ์ดีในกองผ้าห่ม ไม่มีผื่นน้ำลาย

วิธีการป้องกันและลดผดผื่นให้ผิวบอบบางของลูก

เนื่องจากความอับชื้น และการระคายเคือง เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดผดผื่นในผิวทารก โดยเฉพาะบริเวณที่อับชื้น เช่น ซอกพับ และบริเวณผ้าอ้อม วิธีการป้องกันหลักๆ คือการดูแลผิวให้แห้ง ไม่อับชื้น และลดการระคายเคืองจากผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมี ดังนี้

  1. รักษาความสะอาด ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมเมื่อพบความเปียกชื้น อย่างน้อยทุก 2 - 3 ชั่วโมง และเปลี่ยนทุกครั้งหลังลูกอุจจาระ ล้างทำความสะอาดบริเวณโดยรอบด้วยน้ำและสบู่ที่อ่อนโยน ซับให้แห้งแทนการถู และหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เนื่องจากทำให้เกิดการระคายเคืองของผิวมากยิ่งขึ้น

  2. ดูแลผิวบริเวณก้นให้แห้งอยู่เสมอ เนื่องจากความอับชื้นเป็นสาเหตุของอาการคัน และผดผื่นได้ ก่อนใส่ผ้าอ้อมผืนใหม่ควรตรวจเช็คว่าผิวของลูกแห้งสนิทดี นอกจากนี้อาจใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยปกป้องผิวลูกจากความอับชื้น ที่ช่วยดูดซับความเปียกชื้น ให้ผิวของลูกแห้งสนิท และไม่ระคายเคือง ไม่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายกับผิวลูก รวมถึงผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยที่มีมาตรฐาน

  3. หากดูแลเรื่องความสะอาดและความอับชื้นแล้ว อาการผื่นยังไม่ดีขึ้น ใน 3 - 7 วัน ควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากผื่นผ้าอ้อมอาจมีการติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียตามมาได้ ต้องได้รับการรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อ

บทความที่น่าสนใจ เพื่อการดูแลผิวลูกน้อย