
คนท้องห้ามกินอะไรบ้าง ประเภทอาหารที่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยง
เพราะการตั้งท้องเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่มีความสุขและตื่นเต้นสุดๆ เช่นกัน ยิ่งสำหรับคุณแม่มือใหม่ยิ่งอดกังวลไม่ได้ว่าควรจะดูแลตัวเองอย่างไรดี? โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินที่สำคัญมาก เชื่อว่า คุณแม่อาจจะเคยได้ยินคนบอกว่า คนท้องห้ามกินอะไร เพราะหากรับประทานเข้าไปแล้วอาจส่งผลต่อลูกน้อยในครรภ์ แคร์ รวมอาหารที่ควรเลี่ยงขณะตั้งครรภ์สำหรับคุณแม่มือใหม่ ภายใต้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญและประสบการณ์ตรงของคุณแม่หลายท่าน เพื่อช่วยให้คุณดูแลตัวเองและลูกน้อยในครรภ์ได้อย่างเหมาะสมไปพร้อมๆ กันค่ะ
อาหารคนท้อง: ทำไมคุณแม่ควรใส่ใจมื้ออาหารระหว่างตั้งครรภ์?
นอกจากการเลือกรับประทานอาหารระหว่างตั้งครรภ์ หรือพูดให้เข้าใจง่ายว่า อาหารคนท้อง จะส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ แล้วยังส่งผลต่อสุขภาพและพัฒนาของลูกน้อยในครรภ์ด้วยเช่นกัน ทางที่ดีคุณแม่ควรจะรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อส่งผ่านพลังงานและสารอาหารต่างๆ ไปยังลูกน้อยในครรภ์ และช่วยให้ลูกได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของอวัยวะต่างๆ รวมไปถึง
ส่งเสริมพัฒนาการของทารกในครรภ์: คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ เพื่อช่วยให้ลูกมีพัฒนาการทางสมองและร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง
ป้องกันภาวะขาดสารอาหาร: การขาดสารอาหารบางชนิดอาจส่งผลต่อสุขภาพของทั้งคุณแม่และลูกน้อยได้ เช่น ภาวะโลหิตจาง ภาวะกระดูกอ่อน เป็นต้น
เพิ่มภูมิคุ้มกันที่ดี: อาหารที่มีประโยชน์จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคุณแม่และลูกน้อยได้อย่างดี เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อต่างๆ และช่วยให้ลูกน้อยมีสุขภาพแข็งแรงหลังคลอด
เตรียมความพร้อมสำหรับการให้นมบุตร: การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์จะช่วยให้คุณแม่มีน้ำนมที่เพียงพอและมีคุณค่าทางอาหารสูง ซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อย
จะเห็นได้ว่า อาหารคนท้องมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการและสุขภาพของลูกน้อย ทั้งในระหว่างที่ลูกอยู่ในท้องของคุณแม่และหลังจากที่เจ้าตัวน้อยลืมตาดูโลก คุณแม่จึงควรให้ความสำคัญกับเมนูอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพื่อช่วยบำรุงร่างกายและเสริมสร้างพัฒนาการของลูกน้อยได้อย่างเหมาะสมนั่นเองค่ะ
คนท้องห้ามกินอะไร? เช็คลิสต์อาหารที่คุณแม่ตั้งท้องควรเลี่ยง
ในระหว่างตั้งครรภ์ระบบภูมิคุ้มกันของคุณแม่จะอ่อนแอลง ทำให้คุณมีแนวโน้มที่จะเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือการติดเชื้อจากอาหาร ดังนั้น จึงมีอาหารบางอย่างที่คุณควรหลีกเลี่ยงในระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากมีโอกาสสูงที่อาหารเหล่านั้นจะทำให้คุณแม่เจ็บป่วย หรือเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ แล้วยังมีอาหารบางอย่างที่ไม่ควรรับประทานมากจนเกินไป ซึ่งคุณแม่อาจจะสับสนว่า แล้วคนท้องกินอะไรได้บ้าง? ของอร่อยที่เคยชอบรับประทานต้องบอกผ่านเลยไหม? คุณแม่อย่าเพิ่งกังวลใจไปค่ะ เรามีคำตอบดีๆ จากผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์มาฝาก
หมวดอาหาร: อาหารดิบๆ สดๆ อดใจไม่กินตอนท้อง!
อย่างแรกที่ควรหลีกเลี่ยงคือ อาหารสดและอาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ ไม่ว่าจะเป็น ซูชิ ซาชิมิ หอยนางรม กุ้งเต้น สเต็กที่ไม่สุก หรือแม้แต่ไข่ดิบ (แม้จะเป็นเมนูโปรดก่อนคุณแม่ตั้งท้องก็ตาม) เพราะอาหารเหล่านี้อาจจะมีเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิตปนเปื้อน ซึ่งอาจเป็นอันตรายทั้งต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้ ทางที่ดีคุณแม่สายปลาดิบควรอดใจไว้ก่อน ถ้าคุณแม่อยากรับประทานจริงๆ ให้เลือกแบบที่ผ่านความร้อนและปรุงสุกจะปลอดภัยกว่า เช่น ปลาเผา ปลานึ่ง หรือไข่ต้มสุก และควรจำกัดปริมาณในการรับประทานจะดีกว่า
แม้ว่าปลาจะเป็นแหล่งของโปรตีนและกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่คุณแม่ควรรับประทานในปริมาณจำกัด เพราะปลาบางชนิดมีปริมาณปรอทสูงโดยเฉพาะปลาที่มีขนาดใหญ่ ข้อมูลจาก Department of Health and Ages Care ประเทศออสเตรเลีย บอกว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานปลากะพงแดง ปลาทูน่า และปลาดุกเกิน 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และไม่ควรรับประทานปลาหรืออาหารทะเลชนิดอื่นๆ มากกว่า 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ที่สำคัญควรรับประทานปลาที่ปรุงสุกและรับประทานทันทีอย่าทิ้งไว้ข้ามคืน
**Note: ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไข่ดิบ หรือไข่ที่ปรุงไม่สุก เช่น มายองเนส มูส ซอสอัลยอลี ฯลฯ และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานไข่แตกหรือไข่ดิบที่ตอกทิ้งไว้แล้วแช่ในตู้เย็น เพราะอาจมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนได้
หมวดผลิตภัณฑ์จากนม: บอกลานมไม่พาสเจอร์ไรส์และชีสบางชนิด
นอกจากอาหารสุกๆ ดิบๆ แล้ว นมที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ก็เป็นอีกเมนูที่คนท้องควรหลีกเลี่ยงเช่นกันค่ะ เพราะอาจจะมีเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายปนเปื้อนอยู่ในนมได้ เช่นเดียวกับชีสบางชนิดที่ทำจากนมดิบก็ควรหลีกเลี่ยงไปก่อน เช่น Brie, Camembert และ Chèvre ฯลฯ ส่วนคุณแม่ที่ชอบดื่มนมสดแนะนำให้ดื่มนมพาสเจอร์ไรส์หรือนมยูเอชทีแทนไปก่อนค่ะ ส่วนชีสก็คววรเลือกรับประทานเฉพาะที่ทำจากนมพาสเจอร์ไรส์เช่นกัน เพื่อความปลอดภัยของเจ้าตัวน้อยในครรภ์ อีกทั้งการดื่มนมสดมากเกินไปอาจจะเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้ลูกในท้องแพ้โปรตีนในนมวัวได้ง่ายขึ้นด้วยค่ะ
**Note: คุณแม่ไม่ควรรับประทานไอศกรีมแบบซอฟต์เซิร์ฟ เพราะไอศกรีมชนิดนี้จะถูกเก็บไว้ในอุณหภูมิที่ทำให้แบคทีเรียเติบโตได้ดี แนะนำให้รับประทานไอศกรีมแช่แข็งแบบบรรจุหีบห่อจะปลอดภัยกว่า
หมวดเครื่องดื่ม: ชา กาแฟ แอลกอฮอล์...ของต้องห้ามสำหรับคุณแม่ตั้งท้อง
มาถึงเครื่องดื่มกันบ้าง คุณแม่ตั้งครรภ์ควรงดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ และน้ำอัดลม เพราะคาเฟอีนจะส่งผลต่อการดูดซึมธาตุเหล็ก ทำให้ร่างกายของคุณแม่ได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอในระหว่างตั้งครรภ์ แล้วยังส่งผลต่อน้ำหนักตัวของลูกน้อยในครรภ์ ทำให้เด็กอาจจะคลอดออกมามีน้ำหนักน้อย และเสี่ยงต่อภาวะแท้งคุกคามอีกด้วย ส่วนแอลกอฮอล์ถือเป็นเครื่องดื่มต้องห้ามสำหรับคนท้องโดยเด็ดขาดค่ะ เพราะแอลกอฮอล์อาจส่งผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทำให้เกิดความผิดปกติทางสมองและร่างกายได้
คุณแม่อาจจะสงสัยว่า คนท้องกินชาเขียวได้ไหม? แม้ชาเขียวจะถือเป็นเครื่องดื่มที่ปลอดภัยสำหรับคุณแม่ตั้งท้อง แต่วิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (The American College of Obstetricians and Gynecologists หรือ ACOG) แนะนำว่า คุณแม่ควรบริโภคคาเฟอีนไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน ชาเขียวหนึ่งถ้วยมีคาเฟอีนประมาณ 50 มิลลิกรัม หากคุณดื่มชาเขียวมากเกินไปอาจจะได้รับคาเฟอีนเกินขีดจำกัด อีกทั้งชาเขียวยังมีสารคาเทชินสูง ซึ่งเป็นสารที่ป้องกันไม่ให้เซลล์ดูดซึมกรดโฟลิกได้อย่างเต็มที่ แนะนำให้ดื่มชาเขียวเย็นหรือร้อนไม่เกิน 1-2 แก้วจะดีกว่า โดยเฉพาะชาเขียวที่มีส่วนผสมของนมและน้ำตาลยิ่งต้องระวังมากขึ้น
** Note: คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการดื่มชาสมุนไพรบางชนิด แม้ว่าชาสมุนไพรจะดูดีต่อสุขภาพและเป็นธรรมชาติ แต่ชาสมุนไพรก็ไม่ได้ปลอดภัยสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์เสมอไป แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอก่อนดื่มชาสมุนไพรหรือสมุนไพรทุกชนิดจะปลอดภัยกว่า
ข้อมูลจาก https://www.babycenter.com/pregnancy/diet-and-fitness/herbal-teas-during-pregnancy_3537
หมวดผักและผลไม้: กินอย่างไรให้ปลอดภัยต่อลูกในท้อง
ขึ้นชื่อว่าผักและผลไม้สดตามฤดูกาล ฟังแล้วน่าจะดีต่อสุขภาพใช่ไหมคะ? แต่สำหรับคุณแม่ตั้งท้องควรเลือกรับประทานผักสดและผลไม้ที่ปลอดภัยต่อลูกน้อยในครรภ์ นั่นเพราะผักและผลไม้บางชนิดอาจมีสารเคมีตกค้างจากยากำจัดศัตรูพืชที่อาจจะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ รวมถึงหากไม่ได้ล้างทำความสะอาดอย่างถูกวิธีก็อาจจะมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน ซึ่งอาจจะทำให้คุณแม่ท้องเสียหรือติดเชื้อได้เช่นกันค่ะ ที่สำคัญผักและผลไม้บางชนิดอาจมีสารที่กระตุ้นการหดตัวของมดลูก ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ได้ เช่น
ผักใบเขียว: ผักใบเขียวบางชนิดอาจจะมีสารเคมีตกค้างสูง หากคุณแม่อยากรับประทานจริงๆ ควรเลือกซื้อจากแหล่งเพาะปลูกและแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือได้ และควรล้างทำความสะอาดอย่างดีก่อนรับประทาน
ผลไม้รสเปรี้ยว: ผลไม้รสเปรี้ยวบางชนิด เช่น มะม่วงดิบ สับปะรด อาจกระตุ้นให้เกิดอาการท้องเสียและปวดท้อง โดยเฉพาะสับปะรดที่คุณแม่ควรงดไปก่อน เนื่องจากสับปะรดมีเอนไซม์บางชนิดที่อาจทำให้เกิดการบีบตัวของมดลูกก่อนกำหนด ซึ่งอาจส่งผลต่อภาวะแท้งบุตรได้
ผลไม้ที่มีเมล็ด: ผลไม้ที่มีเมล็ดต่างๆ เช่น ทับทิม ลิ้นจี่ มะละกอ ฯลฯ อาจจะทำให้เกิดอาการท้องผูก ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงมะละกอดิบอาจทำให้เกิดการบีบตัวของมดลูกก่อนกำหนดและอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ อย่างไรก็ดี มะละกอสุกนั้นอุดมไปด้วยวิตามินและธาตุเหล็ก การรับประทานมะละกอสุกในปริมาณที่ควบคุมจะปลอดภัยต่อสุขภาพมากกว่า รวมถึง ระหว่างตั้งครรภ์ช่วงไตรมาสสุดท้าย คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานองุ่นมากเกินไปเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อน
ผักดิบ: ผักดิบที่ไม่ได้ล้างทำความสะอาดอย่างถูกวิธี อาจมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน ซึ่งอาจทำให้คุณแม่ท้องเสียหรือติดเชื้อโรคอื่นๆ รวมไปถึงผักบางชนิดที่คนท้องห้ามกิน ได้แก่ ถั่วงอกดิบ กะหล่ำปลีดิบ ถั่วฝักยาวดิบ ชะอมดิบ และต้นอ่อนของพืชที่ไม่ควรรับประทานดิบๆ เพราะอาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารเคมีและยาฆ่าแมลง โดยเฉพาะหน่อไม้ดิบที่มีสารไซยาไนด์ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้เกิดอาการมึนงงหรือเสียชีวิตได้
**Note: ควรเลือกรับประทานผักและผลไม้ปลอดสาร หรือทำความสะอาดผัก-ผลไม้อย่างถูกวิธี และไม่ควรรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานในปริมาณที่มากจนเกินไป เพราะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อีกทั้งหากคุณแม่แปรงฟันและดูแลช่องปากไม่ดีพอก็อาจจะทำให้ฟันผุ หรือมีปัญหาสุขภาพช่องปากตามมา
คุณแม่ท้องอ่อนๆ ห้ามกินอะไร: เมนูอาหารสําหรับคนท้อง 1-3 เดือน
ช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ 1-3 เดือน หรือที่เรียกกันว่า “คนท้องอ่อนๆ” คุณแม่อาจมีอาการแพ้ท้องและอ่อนเพลียง่าย ทำให้ความรู้สึกอยากรับประทานอาหารลดลง ช่วงนี้ควรรับประทานอาหารอ่อนๆ หรืออาหารย่อยง่าย และควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ขณะเดียวกันคนท้องอ่อนก็มีอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเช่นกันค่ะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน และเสริมสร้างพัฒนาการของลูกในครรภ์ เรามีอาหารคนท้องอ่อนห้ามกินมาฝาก นั่นคือ
อาหารดิบ หรืออาหารสุกๆ ดิบๆ: เนื้อสัตว์ดิบ ปลาดิบ ไข่ดิบ อาหารทะเลดิบ หรืออาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ อาจจะมีเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
อาหารแปรรูปต่างๆ: อาหารกระป๋อง อาหารสำเร็จรูป และอาหารแปรรูป มักจะมีปริมาณโซเดียมสูง ที่ส่งผลต่อความดันโลหิต เสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ และมีสารกันบูดที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
อาหารที่มีคาเฟอีนสูง: ควรหลีกเลี่ยงกาแฟ ชาเขียว และน้ำอัดลม เพราะมีส่วนผสมของคาเฟอีนที่ส่งผลต่อการนอนหลับ และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
อาหารที่มีแอลกอฮอล์: แอลกอฮอล์เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์อย่างมาก อาจจะทำให้เกิดความผิดปกติทางร่างกายและสมองของทารกได้
อาหารที่มีน้ำตาลสูง: ควรหลีกเลี่ยงขนมหวาน น้ำหวาน เครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เพราะนอกจากจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มเร็วเกินไป แล้วยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
อาหารที่มีไขมันทรานส์: พบมากในอาหารทอด เบเกอรี่ และอาหารแปรรูปต่างๆ ที่อาจจะเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
ผักใบเขียวที่ไม่ได้ล้างสะอาด: เพราะผักใบเขียวอาจมีสารเคมีตกค้าง หรือมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน
อาหารหมักดอง: อาหารหมักดองมีเกลือและโซเดียมในปริมาณสูง จึงเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษได้
เป็นยังไงกันบ้างคะ สำหรับอาหารที่ควรเลี่ยงขณะตั้งครรภ์ที่เรานำมาฝากกัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคุณแม่มือใหม่ทุกท่านนะคะ ทางที่ดีคุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทานอาหาร เพราะคุณหมอจะให้คำแนะนำเรื่องอาหารที่ควรรับประทานในแต่ละไตรมาสของการตั้งครรภ์ได้อย่างเหมาะสม เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่ตั้งท้องและพัฒนาการที่สมวัยของลูกน้อยในครรภ์นั่นเองค่ะ
เลือกสิ่งที่ดีที่สุดในการดูแลสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ แล้วอย่าลืมเตรียมตัวให้พร้อมก่อนไปคลอดน้องกันนะคะ เราชวนคุณแม่มา “เช็คลิสต์รายการของใช้เตรียมคลอด” และไอเท็มที่คุณแม่มือใหม่ต้องมี เพียงเท่านี้คุณแม่ก็จะรู้สึกอุ่นใจและพร้อมต้อนรับเจ้าตัวน้อยที่ใกล้จะลืมตาดูโลกแล้วค่ะ