
พัฒนาการเด็กทารก 7 เดือนมีอะไรบ้าง? พร้อมวิธีการรับมือที่คุณแม่ควรรู้
ลูกน้อยของคุณแม่อายุครบ 7 เดือนแล้วใช่ไหมคะ ช่วงเดือนนี้คุณจะเริ่มเห็นพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ลูกจะเริ่มนั่งเองได้โดยไม่ต้องมีคนช่วย เริ่มคลานหรือกลิ้งตัว หัวเราะเสียงดังเมื่อชอบใจ พูดอ้อแอ้และเริ่มจำชื่อตัวเองได้แล้ว พยายามใช้ช้อนตักข้าวกินเอง (แม้จะหกเลอะเทอะก็น่าเอ็นดู) เริ่มติดแม่และกลัวคนแปลกหน้า แคร์ ชวนคุณมาเช็คพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ และการเคลื่อนไหว พร้อมเคล็ดลับการดูแลลูกน้อยวัย 7 เดือน ให้ลูกน้อยเติบโตสมวัยและมีความสุขในทุก ๆ วัน
ลูกน้อยวัย 7 เดือนทำอะไรได้บ้าง: สำรวจพัฒนาการรอบด้านของลูกรัก
เมื่อลูกน้อยก้าวเข้าสู่วัย 7 เดือน คุณแม่จะเริ่มสังเกตเห็นพัฒนาการที่ก้าวกระโดดในหลาย ๆ ด้านค่ะ ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย อารมณ์ หรือการเคลื่อนไหว ซึ่งแต่ละด้านล้วนมีความสำคัญและเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด เราจะพาคุณแม่ไปสำรวจพัฒนาการของลูกน้อยในแต่ละด้านกันค่ะ
พัฒนาการด้านร่างกาย: ลูกน้อยวัย 7 เดือนส่วนใหญ่จะสามารถพลิกตัวได้อย่างคล่องแคล่ว บางคนอาจเริ่มนั่งได้เองโดยไม่ต้องมีคนช่วย หรืออาจเริ่มคลานได้บ้างแล้วค่ะ นอกจากนี้ มือของลูกน้อยก็เริ่มแข็งแรงขึ้น สามารถหยิบจับสิ่งของได้แม่นยำมากขึ้น และเริ่มฝึกกินอาหารเสริมได้หลากหลายชนิดมากขึ้นด้วยค่ะ การที่ลูกน้อยสามารถนั่งได้เอง ทำให้เขาสามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้กว้างขึ้น และกระตุ้นให้เขาอยากสำรวจโลกมากขึ้น นอกจากนี้ เด็กบางคนอาจเริ่มมีฟันน้ำนมงอกออกมาด้านล่าง คุณแม่จะเห็นลูกมีน้ำลายไหล หรือลูกงอแงผิดปกติ แต่ถ้าลูกของคุณแม่มีฟันงอกขึ้นมาตั้งแต่ตอนคลอด หรือฟันยังไม่งอกก็ไม่ต้องกังวลใจไปค่ะ เพราะเด็กบางคนอาจจะมีพัฒนาการทางกายที่แตกต่างกัน หรือฟันงอกหลังอายุ 1 ขวบก็ได้เช่นกัน
เพศ |
น้ำหนักตัวเฉลี่ย |
ความยาวเฉลี่ย (จากศีรษะจรดปลายเท้า) |
ทารกเพศชาย |
8 กิโลกรัม |
68 เซนติเมตร |
ทารกหญิง |
7 กิโลกรัม |
66 เซนติเมตร |
พัฒนาการด้านอารมณ์: เด็กวัย 7 เดือนเป็นช่วงที่ลูกน้อยเริ่มแสดงอารมณ์ที่ซับซ้อนมากขึ้น ลูกอาจแสดงความดีใจเมื่อเห็นคนที่คุ้นเคย หัวเราะเสียงดังเมื่อชอบใจ ร้องไห้หรือไม่พอใจเมื่อถูกขัดใจ และเริ่มจำเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้แล้ว นอกจากนี้ ลูกน้อยยังเริ่มแสดงความผูกพันกับคุณพ่อคุณแม่มากขึ้นและเริ่มกลัวคนแปลกหน้า หรือที่เรียกกันว่า “เด็กติดแม่” นั่นเองค่ะ การที่ลูกน้อยแสดงอารมณ์ต่าง ๆ ได้มากขึ้น แสดงว่าเขากำลังเรียนรู้ที่จะเข้าใจและจัดการกับความรู้สึกของตัวเองค่ะ
พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว: การคลานเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับลูกน้อยวัย 7 เดือนค่ะ เพื่อช่วยให้เขาสามารถเคลื่อนที่ไปสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ การคลานยังช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และพัฒนาการทำงานระหว่างมือและตา ลูกจะเอื้อมคว้าและจับสิ่งของต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำขึ้น หากลูกน้อยยังไม่คลานคุณแม่ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เด็กแต่ละคนมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน คุณแม่อาจลองกระตุ้นให้ลูกน้อยคลานด้วยการวางของเล่นที่เขาสนใจไว้ข้างหน้า หรือช่วยประคองตัวลูกน้อยให้คลานไปข้างหน้าก็ได้ค่ะ
พัฒนาการด้านการมองเห็นและการได้ยิน: ระยะการมองเห็นของเด็กวัย 7 เดือนจะเพิ่มขึ้นมาก การมองเห็นกับการเคลื่อนไหวร่างกายสอดประสานการทำงานร่วมกันได้ดี ลูกน้อยจะเริ่มมองเห็นในระยะไกล ๆ ได้ และมองเห็นทุกอย่างเป็นภาพสีค่ะ รวมถึงการได้ยินของเด็กวัย 7 เดือนก็พัฒนาขึ้นมากเช่นกัน เมื่อลูกได้ยินเสียงพูดคุยก็อาจรับรู้ได้ว่า ผู้พูดอยู่ตรงไหนและมองตามที่มาของเสียงได้ เด็กบางคนอาจเลียนแบบเสียงและวิธีการพูดของคุณอีกด้วย
พัฒนาการด้านการสื่อสาร: นอกจากจะเริ่มส่งเสียงอ้อแอ้ ๆ และรู้จักชื่อของตัวเอง แล้วความทรงจำของเจ้าตัวน้อยก็พัฒนาขึ้นอย่างมากค่ะ เด็กจะเริ่มเข้าใจความหมายของคำพูดมากขึ้น จดจำใบหน้าของคนคุ้นเคยได้ และเริ่มแสดงปฏิกิริยาตอบสนอง หรือสื่อสารด้วยการส่งเสียงสั้น ๆ ออกมา นั่นแสดงว่าลูกน้อยกำลังคุยกันคุณอยู่นั่นเองค่ะ
เคล็ดลับเสริมพัฒนาการลูกรักวัย 7 เดือน
เมื่อเราเข้าใจพัฒนาการของลูกน้อยวัย 7 เดือนแล้ว สิ่งสำคัญคือ การเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมกับลูกน้อย เพื่อช่วยให้ลูกเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ เรามีเคล็ดลับง่าย ๆ ที่คุณแม่สามารถนำไปปรับใช้มาฝากค่ะ
ส่งเสริมการเคลื่อนไหว: จัดพื้นที่ที่ปลอดภัยให้ลูกน้อยได้คลานและสำรวจได้อย่างอิสระ วางของเล่น ลูกบอลนุ่ม ๆ หรือหนังสือภาพที่มีสีสันสดใสไว้รอบ ๆ เพื่อกระตุ้นให้ลูกน้อยอยากเคลื่อนที่ไปหยิบจับ นอกจากนี้ คุณแม่อาจจะเล่นเกมคลานแข่งกับลูกน้อย หรือช่วยประคองตัวลูกน้อยให้คลานไปข้างหน้าก็ได้ค่ะ
กระตุ้นการเรียนรู้และการสื่อสาร: การอ่านนิทานก่อนนอน ร้องเพลงให้ฟัง หรือเล่นเกมง่าย ๆ กับลูกน้อย เช่น เกมซ่อนหา หรือเกมจับคู่ภาพ ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านภาษาและความคิดของลูกน้อยได้ค่ะ
ส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์: คุณแม่ควรตอบสนองต่อความต้องการของลูกอย่างรวดเร็วและอ่อนโยน กอดและสัมผัสลูกบ่อย ๆ พูดคุยกับเจ้าตัวน้อยด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนและแสดงความรักความเอาใจใส่ เพื่อให้ลูกของคุณรู้สึกปลอดภัยและมั่นคงทางอารมณ์
ส่งเสริมพัฒนาการทางสังคม: พาลูกน้อยไปพบปะกับเด็กคนอื่น ๆ หรือพาไปในสถานที่ใหม่ ๆ การทำเช่นนี้จะช่วยให้ลูกน้อยได้เรียนรู้การเข้าสังคม และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ นั่นเองค่ะ
ดูแลลูกน้อยวัย 7 เดือนให้ถูกวิธี เพื่อเด็กอารมณ์ดีมีความสุข
การดูแลลูกน้อยวัย 7 เดือนนั้น นอกจากเรื่องพัฒนาการด้านต่าง ๆ แล้ว เรามีเคล็ดลับดี ๆ ในการดูแลลูกน้อยวัย 7 เดือนให้เติบโตสมวัยที่คุณแม่ควรรู้ ได้แก่
โภชนาการ: ลูกน้อยวัย 7 เดือนควรได้รับอาหารเสริมควบคู่กับนมแม่หรือนมผง เด็กจะดื่มนมทุก 3-4 ชั่วโมง สำหรับคุณแม่ที่ทำงานนอกบ้านสามารถปั๊มนมเก็บไว้ประมาณ 25 ออนซ์ หรือชงนมครั้งละ 6-8 ออนซ์ วัยนี้คุณแม่สามารถเริ่มให้อาหารเสริมที่มีเนื้อเนียนละเอียด เช่น ข้าวบด ผักบด หรือผลไม้บด ค่อย ๆ เพิ่มความหยาบของอาหารเมื่อลูกเริ่มคุ้นเคย โดยเริ่มให้กิน 1-2 มื้อต่อวันในปริมาณเล็กน้อย อย่าลืมสังเกตอาการแพ้เวลาลูกกินอาหารใหม่ ๆ ด้วยนะคะ และไม่แนะนำให้เด็กดื่มนมวัวกล่อง น้ำผึ้ง ผักดิบ หรือถั่วต่าง ๆ ที่อาจทำให้ลูกน้อยสำลักได้ค่ะ
การนอนหลับ: ลูกน้อยวัย 7 เดือนควรนอนหลับประมาณ 12-16 ชั่วโมงต่อวัน คุณแม่ควรสร้างบรรยากาศที่เงียบสงบและผ่อนคลายก่อนนอน เพื่อช่วยให้ลูกน้อยหลับสบายและหลับได้นานขึ้น นอกจากนี้ คุณแม่อาจจะให้ลูกน้อยฟังเพลงกล่อมเด็ก หรืออ่านนิทานก่อนนอนให้ลูกฟังก็ได้ค่ะ
ความปลอดภัย: ลูกน้อยวัย 7 เดือนเริ่มคลานและเคลื่อนที่ได้มากขึ้น คุณแม่จึงต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยเป็นพิเศษ ควรเก็บสิ่งของที่เป็นอันตรายให้พ้นมือลูกน้อย ปิดปลั๊กไฟด้วยที่ครอบปลั๊กไฟ ยางกันกระแทกมุมโต๊ะ และติดตั้งรั้วกั้นบันไดเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ นอกจากนี้ คุณแม่ควรดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิดขณะที่ลูกน้อยกำลังคลานหรือเล่นสนุกอยู่เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย
การดูแลสุขภาพ: ควรพาลูกน้อยไปฉีดวัคซีนตามกำหนดและตรวจสุขภาพเป็นประจำ หากลูกน้อยมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ไอ หรือท้องเสีย ควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์โดยเร็วค่ะ ที่สำคัญคุณแม่ควรใส่ใจเรื่องการดูแลรักษาความสะอาดและการเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับลูกน้อย อย่างการเลือกครีมอาบน้ำที่ลดการระคายเคือง ลดการสะสมของแบคทีเรีย พร้อมกลิ่นหอมอ่อนโยนที่เสริมสร้างพัฒนาการของลูกน้อยและปลอบประโลมให้ลูกผ่อนคลาย แนะนำให้เลือก ครีมอาบน้ำแคร์ โซเพียว ให้ลูกมีความสุขในทุกช่วงพัฒนาการได้อย่างสมวัย
พัฒนาการลูกไม่เป็นตามวัย ควรทำอย่างไรดี
หากคุณแม่สังเกตว่าลูกน้อยมีพัฒนาการที่ล่าช้ากว่าเด็กคนอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและการวินิจฉัยที่ถูกต้องจะดีที่สุดค่ะ การพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้ลูกน้อยได้รับการดูแลและรักษาอย่างทันท่วงที และช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีขึ้นสมวัยค่ะ
แคร์ หวังว่าข้อมูลและเคล็ดลับที่นำมาแบ่งปันจะเป็นประโยชน์สำหรับคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านนะคะ ขอให้มีความสุขกับการเลี้ยงดูลูกน้อย และอย่าลืมให้ความรักและความเอาใจใส่แก่ลูกน้อยอย่างเต็มที่นะคะ เพราะความรักและความเอาใจใส่ คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อยค่ะ